service pack2

ความแตกต่าง Service Pack2 Service Pack3 ของ window xp

ไมโครซอฟท์ได้ออกโปรแกรมอัพเกรดรุ่น Service Pack 3 หรือ SP3 ของ Windows XP มาให้ใช้กันทั่วไปตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา โดยมีทั้งแบบที่ดาวน์โหลดไฟล์ติดตั้งไฟล์เดียว ขนาด 316 MB ที่มีทุกโปรแกรมย่อยหรือ patch ทั้งหมดที่ออกหลัง Service Pack รุ่นก่อน (SP2) รวมอยู่ในไฟล์เดียวกัน และแบบดาวน์โหลดผ่านคำสั่ง Windows Update ซึ่งในกรณีที่เครื่องของคุณเคยอัพเดท patch อื่นๆ ก่อนหน้านี้ไว้หมดแล้ว ก็จะมีเฉพาะไฟล์ใหม่ของ SP3 เองซึ่งมีขนาดประมาณ 70MB เท่านั้น
การติดตั้ง SP3 จากไฟล์ทั้งก้อนที่ดาวน์โหลดมา จะทำบนเครื่องที่เดิมเป็น Windows XP SP1 หรือ SP2 ก็ได้ และจะติดตั้งอัพเกรดไปบน Windows XP เดิมที่เป็น Edition ใดก็ได้ ทั้ง Home Edition, Professional หรือ Media Center (ยกเว้น Embedded Edition)

 มีอะไรใหม่ใน Windows XP Service Pack 3 (SP3)
Patch ต่างๆใน SP3 ส่วนมากเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาด แต่ก็ยังมีคุณสมบัติใหม่บางอย่างทางด้านความปลอดภัย การบริหารระบบ และเน็ตเวิร์ก ที่ไมโครซอฟท์ใส่เข้ามาเพื่อให้เครื่องที่ยังจำเป็นต้องใช้ XP ไม่อัพเกรดไปเป็น Vista สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น ซึ่งสรุปคุณสมบัติใหม่เฉพาะที่สำคัญใน SP3 (รวมทั้ง Patch ที่ออกมาหลัง SP2 แต่ก่อนหน้า SP3)ได้ดังนี้

 Patch ที่ออกมาหลัง SP2 แต่ก่อนหน้า SP3

ด้านการบริหารระบบ

  • Microsoft Management Console (MMC) 3.0 เป็นโปรแกรมที่รวมเครื่องมือในการบริหารระบบของ Windows ไว้ที่เดียวกัน โดยสามารถสร้างเครื่องมือย่อยๆแต่ละอย่างมาติดตั้งเพิ่มให้ทำงานภายใต้ MMC ได้ (เรียกว่า Snap-in) โดย patch นี้เป็นการอัพเกรด MMC ให้เป็นเวอร์ชั่น 3.0 

ด้านการจัดการข้อมูลแบบ XML

  • MSXML6 เป็นโปรแกรมในส่วนของ Microsoft Data Access Component (MDAC) ที่ทำให้รองรับมาตรฐาน XML 1.0 และ XMLSchema 1.0 ตามข้อกำหนดของ World Wide Web Consortium (W3C Recommendations) และข้อกำหนดเรื่องการอ้างอิงชื่อหรือ namespace ตามมาตรฐาน System.XML 2.0 ด้วย 

ด้านการติดตั้งโปรแกรม

  • Windows Installer 3.1 version 2 (3.1.4000.2435) เป็นการปรับรุ่นย่อยจาก 3.0 ที่ออกมาเมื่อเดือนกันยายน 2004 เพื่อแก้ปัญหาในการทำงานของรุ่นเดิม 

ด้าน Network

  • Background Intelligent Transfer Service (BITS) 2.5 เป็นโปรแกรมส่วนที่ใช้ในการรับส่งข้อมูล เช่นการดาวน์โหลดอัพเดทต่างๆจากไมโครซอฟท์ ซึ่งในเวอร์ชั่น 2.5 นี้มีการปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยให้ดีขึ้น 
  • IPSec Simple Policy Update for Windows Server 2003 and Windows XP ปรับปรุงการทำงานที่สนับสนุนโปรโตคอล IPSec (IP Security คือโปรโตคอลที่ทำการรับส่งข้อมูลแบบปลอดภัยผ่าน Internet Protocol หรือ IP อีกทีหนึ่ง)  
  • Digital Identity Management Service (DIMSช่วยให้ผู้ใช้ที่ทำการ logon เข้ามาในคอมพิวเตอร์เครื่องใดก็ได้ที่ join กับโดเมนไว้ สามารถเข้าใช้ใบรับรองดิจิตอล (certificate) และ private key (ที่ใช้ในการถอดรหัสข้อมูลที่เข้ารหัสมาด้วย public key ของผู้รับ) ได้โดยไม่มีการเตือนใดๆ 
  • Peer Name Resolution Protocol (PNRP) 2.1 ทำให้โปรแกรมบน Windows XP สามารถใช้โปรโตคอล PNRP นี้ติดต่อกับโปรแรกมที่ใช้โปรโตคอลเดียวกันบนเครื่องที่รัน Windows Vista ได้ 
  • Remote Desktop Protocol (RDP) 6.1 เป็นการปรับรุ่นของโปรโตคอล RDP ที่ใช้ติดต่อระหว่างเครื่องที่ทำหน้าที่เป็น Terminal Server กับ Terminal Client เช่นในกรณีของการใช้โปรแกรม Remote Desktop Connection ล็อกอินจากหน้าจอของเครื่องที่เราใช้อยู่เข้าไปใช้งานอีกเครื่องหนึ่งที่ต่อกันผ่านเน็ตเวิร์กเสมือนไปนั่งอยู่หน้าเครื่องนั้น ซึ่งโปรโตคอล RDP นี้จะทำงานบน TCP อีกทีหนึ่ง การปรับรุ่นนี้จะทำให้การเชื่อมต่อแบบ remote นี้ระหว่างเครื่องที่ใช้ Windows XP กับ Vista ทำงานได้ดีขึ้น 
  • Wi-Fi Protected Access 2 (WPA2) เป็นการปรับรุ่นของระบบความปลอดภัยสำหรับ Wireless LAN เพื่อป้องกันการเข้าใช้เครือข่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จากที่ Windows XP เคยมีแค่มาตรฐานเดิมคือ WEP (Wired Equivalent Privacy ซึ่งจัดว่าไม่ปลอดภัยที่จะใช้แล้วในปัจจุบัน เพราะเจาะได้ง่าย) และ WPA รุ่นแรก ก็เพิ่มมาตรฐานใหม่คือ WPA2 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยล่าสุดของ IEEE 801.11i  

 Patch เฉพาะที่เพิ่มมาใหม่ใน SP3

ด้าน Network

  • ความสามารถในการตรวจจับ Router ที่ทำตัวเหมือนหลุมดำ (Black Hole Router คือ router ที่ทิ้งข้อมูลบางส่วนที่ส่งผ่านไปเฉยๆ) และพยายามส่งข้อมูลอ้อมไปทางอื่นแทน
  • Network Access Protection (NAP) เพิ่มความสามารถให้เทียบเท่ากับ Windows Vista และ  Windows Server 2008 ในการป้องกันไม่ให้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนเพียงพอ เข้ามาใช้ทรัพยากรในเน็ตเวิร์กได้ ซึ่งผู้ดูแลระบบสามารถตั้งเงื่อนไขในการตรวจสอบ รวมถึงการจำกัดระดับการอนุญาตให้ติดต่อกับเครื่องอื่นๆในกรณีที่เครื่องนั้นมีคุณสมบัติไม่ตรงตามเงื่อนไข

ด้านความปลอดภัย  (Security)

  • CredSSP Security Service Provider เป็นมาตรฐานใหม่ในการติดต่อเพื่อโอนหน้าที่การตรวจสอบชื่อและข้อมูลผู้ใช้ (user credential) จากเครื่องที่ผู้ใช้นั้น logon เข้าใช้งาน ไปยังเครื่องเซิร์ฟเวอร์อื่นๆที่ต้องการได้  
  • มีคำอธิบาย Security Options ที่ละเอียดขึ้น
  • Microsoft Cryptographic Module ปรับปรุงโปรแกรมส่วนที่ทำการเข้าและถอดรหัสให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนมาตรฐานของรัฐบาลสหรัฐ จาก FIPS (Federal Information Processing Standard) 140-1 เป็น 140-2 โดยสามารถทำ hashing แบบ SHA2 (SHA256, SAH384 และ SHA512) ในไฟล์ rsaenh.dll 

ด้านการติดตั้ง (Setup)

  • Windows Product Activation การ activate Windows เปลี่ยนมาใช้ขั้นตอนเหมือน Windows Server 2003 SP2 และ Windows Vista คือยอมให้ผู้ใช้สามารถติดตั้ง Windows XP ที่เป็น SP3 ในตัวอยู่แล้วในแบบ Full Install ไปจนเสร็จได้โดยไม่ต้องใส่ Product Key แล้วค่อยมาถามให้กรอก Product key ทีหลังตอนตรวจสอบลิขสิทธิ์ (ส่วนการติดตั้งหรืออัพเกรดโดยดาวน์โหลดผ่าน Windows  Update นั้นไม่ต้องใช้ key อยู่แล้ว) แต่ทั้งนี้ไม่ได้เปลี่ยนวิธีในการ Activate แต่อย่างใด

ที่มา :  http://www.provision.co.th/index.php?option=com_content&task=view&id=83&Itemid=38